วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

ระบบโครงกระดูก

กระดูกในร่างกายของคนที่เจริญเติบโตเต็มที่จะมีจำนวน 206 ชิ้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามตำแหน่งที่อยู่ คือ
1. กระดูกแกน (axial skeleton ) เป็นกระดูกที่อยู่บริเวณกลางลำตัว มีทั้งหมด 80 ชิ้น ประกอบด้วย
- กระดูกกะโหลกศีรษะ 29 ชิ้น
- กระดูกสันหลัง 26 ชิ้น ( ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีแผ่นกระดูกอ่อนที่เรียกว่า หมอนรองกระดูก ทำหน้าที่รอง
รับและเชื่อมระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อเพื่อป้องกันการเสียดสีในขณะเคลื่อนไหว )
- กระดูกซี่โครง 24 ชิ้น ( ทั้งหมด 12 คู่ คู่ที่ 11 และ 12 เป็นซี่สั้นๆไม่เชื่อมต่อกับกระดูกหน้าอก เรียกว่า ซี่โครงลอย )
- กระดูกหน้าอก 1 ชิ้น
2. กระดูกรยางค์( appendicular skeleton ) เป็นกระดูกที่ยื่นจากกระดูกแกนออกไป มีทั้งหมด 126 ชิ้น
ประกอบด้วย
- กระดูกแขนข้างละ 30 ชิ้น
- กระดูกขาข้างละ 30 ชิ้น
- กระดูกสะบักข้างละ 1 ชิ้น
- กระดูกเชิงกรานข้างละ 1 ชิ้น
- กระดูกไหปลาร้าข้างละ 1 ชิ้น


ระบบโครงกระดูกของมนุษย์
ระบบโครงกระดูกของมนุษย์ (skeletal system) มีวิวัฒนาการมาอย่างสลับซับซ้อน แต่หลักฐานจากการศึกษากายวิภาคเปรียบเทียบ พบว่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทั้งหมดล้วนมีพัฒนาการของระบบโครงกระดูกที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่เป็นตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ เมื่อแรกคลอดทารกมีกระดูกทั้งหมดประมาณ 350 ชิ้น หลังจากนั้นจะเริ่มมีการเชื่อมติดกันของกระดูกบางชิ้น จนกระทั่งเมื่อเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ร่างกายมนุษย์จะมีกระดูกรวมกันทั้งสิ้น 206 ชิ้น
ในบรรดากระดูกทั้งหมด 206 ชึ้น พบว่าเป็นส่วนกะโหลกศีรษะ 21 ชิ้น (รวมกระดูกขากรรไกรบนด้วย) กระดูกฆ้อน-ทั่ง-โกลนในหูชั้นกลางสองข้างรวม 6 ชิ้น กระดูกขากรรไกรล่าง 1 ชิ้น กระดูกไฮออยด์อยู่ทางด้านหน้าของคอ 1 ชิ้น กระดูกสันหลังตลอดทั้งแนวรวมทั้งสิ้น 26 ชิ้น กระดูกซี่โครงสองข้างรวมกัน 24 ชิ้น กระดูกอก 1 ชิ้น กระดูกของทั้งสองแขนรวมกัน 64 ชิ้น และกระดูกของทั้งสองขารวมกัน 62 ชิ้น กระดูกทั้งหมดจัดเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือเป็นกระดูกแกนกลางของร่างกาย เรียกว่า axial joints ได้แก่ กระโหลกศีรษะ กระดูกไฮออยด์ กระดูกอก กระดูกซี่โครง และกระดูกสันหลัง เป็นต้น ส่วนกระดูกแขน-ขา กระดูกของข้อไหล่ และกระดูกเชิงกรานจัดเป็นส่วนรยางค์หรือนิยมเรียกว่า peripheral (appendicular) joints
กระดูกต้นขาเป็นกระดูกที่ยาวที่สุดในร่างกาย มีความยาวประมาณหนึ่งในสี่ของความสูงทั้งหมด กระดูกของแขน-ขา เช่น ต้นแขน ต้นขา หน้าแข้ง ท่อนแขน จัดเป็นกระดูกที่มีความยาวมากกว่าความกว้าง เรียกว่ากระดูกชนิดยาวหรือ long bones ส่วนกระดูกข้อมือ-ข้อเท้าเป็นตัวอย่างของกระดูกชนิดสั้นที่เรียกว่า short bones ลักษณะทั่วไปเป็นรูปลูกบาศก์ มือซ้ายและมือขวามีกระดูกชนิดสั้นข้างละ 27 ชิ้น กระดูกที่สั้นที่สุดในร่างกายคือ stirrup bone กระดูกรูปโกลนในหูชั้นกลาง กระดูกรูปโกลนเป็นกระดูกชนิดสั้นซึ่งมีความยาวเพียง 1/10 นิ้ว สำหรับกระดูกชิ้นที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายคือกระดูกเชิงกราน กระดูกที่มีรูปร่างลักษณะแบนเรียกว่า flat bones ได้แก่ กระดูกซี่โครง กระดูกข้อไหล่ และกระดูกภายในกระโหลกศีรษะ กระดูกส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นใบหน้ามีทั้งหมด 14 ชิ้น กระดูกสันหลังและกะโหลกศีรษะบางส่วนจัดเป็นชนิดรูปร่างไม่แน่นอน (irregular bones)
ระบบโครงกระดูกประกอบด้วยกระดูก กระดูกอ่อน ข้อต่อ และเอ็นยึดระหว่างกระดูก โดยกระดูกเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืดต่างๆ อวัยวะที่สำคัญ ๆ ของร่างกายล้วนอยู่ภายในโครงกระดูกทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออวัยวะสำคัญเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น กะโหลกศีรษะเป็นเหมือนหมวกเหล็กครอบเนื้อสมอง กระดูกสันหลังล้อมรอบไขสันหลังซึ่งเป็นศูนย์รวมประสาทส่วนกลางที่สำคัญ ส่วนกระดูกอกและกระดูกซี่โครงเปรียบเสมือนกรงเหล็กป้องกันอันตรายต่อหัวใจและปอดซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญและจัดได้ว่าค่อนข้างเปราะบาง
ในแง่ของส่วนประกอบพื้นฐาน พบว่าโครงสร้างภายในของกระดูกทั้งหมดในร่างกายแตกต่างกันได้สองชนิด กระดูกที่มีลักษณะเนื้อแน่นเรียกว่า compact bone หรือ dense bone ส่วนกระดูกที่มีลักษณะพรุนเรียกว่า spongy bone หรือ cancellous bone ในกระดูกชิ้นเดียวกันอาจมีทั้งสองส่วนประกอบก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นกระดูกต้นแขน บริเวณหัวของกระดูกต้นแขนจัดเป็น spongy bone ในขณะที่ส่วนกลางของกระดูกต้นแขนจัดเป็น compact bone กระดูกส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างภายในทั้งสองชนิดในเนื้อกระดูกชิ้นเดียวกัน โดยส่วนของเซลล์กระดูกที่มีแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสจะเป็นส่วนเสริมความแข็งแรงของเนื้อกระดูก และในส่วนเซลล์ที่เป็นเส้นใยคอลลาเจนจะทำหน้าที่ช่วยเสริมให้เนื้อกระดูกเกิดความยืดหยุ่นตามสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น